วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


แนะประชาชนโหลดแอปพลิเคชันตรวจสอบ “เห็ดพิษ”
กรมวิทย์ฯ เตือนปชช.ในช่วงฤดูฝนเป็นฤดูที่มีเห็ดมากมาย หลายชนิดขึ้นทำให้ชาวบ้านนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่าจำนวนมาก มักมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกิน "เห็ดพิษ" แนะประชาชนโหลดแอปพลิเคชัน     "คัดแยกเห็ดไทย" ตรวจสอบว่าเห็ดดังกล่าวเป็นเห็ดพิษหรือไม่
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นฤดูเห็ดหลาก ชาวบ้านนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่าเพื่อนำมาประกอบอาหารรับประทาน และขายในตลาดท้องถิ่น ส่งผลให้สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงในแต่ละปี เห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษ เห็ดก้อนฝุ่น และเห็ดระงาก ซึ่งเห็ดพิษเหล่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาหรือเรียกว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีนและเห็ดคันร่มพิษคล้ายกับเห็ดปลวก (เห็ดโคน) เห็ดระงากพิษคล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ และเห็ดก้อนฝุ่นคล้ายกับเห็ดเผาะ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และเก็บมารับประทานจึงได้รับสารพิษเข้าไป
นายแพทย์โอภาส  กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนา Application  Mushroom Image Matching ชื่อว่า “คัดแยกเห็ดไทย” เพื่อใช้ตรวจสอบเห็ดมีพิษและเห็ดที่รับประทานได้ในประเทศไทย โดยรวบรวมภาพถ่ายของเห็ดทั้งเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานเพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพและแสดงผลชนิดของเห็ดและร้อยละของความถูกต้อง
           “สำหรับการใช้งานโปรแกรมดังกล่าว ต้องทำการดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งไว้บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนแบบ Android เท่านั้น โดยเข้าถึงแอพพลิเคชั่นได้ 2 ช่องทาง  คือ 1.เลือกจาก Play store ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย” และ 2. สแกน QR Code  จากนั้นทำการลงทะเบียนและใช้งานโปรแกรมด้วยการเปิดกล้องและสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบ real time และจะหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิดเท่ากับร้อยละ 95 หรือเราสามารถกดปุ่มเพื่อหยุดได้  และนอกจากนี้โปรแกรมนี้ยังสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดจากภาพถ่ายที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการใช้แอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” เป็นเพียงเครื่องมือในการคัดกรองเบื้องต้นซึ่งผู้ใช้สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับประทานเท่านั้น เพราะ        แอปพลิเคชันดังกล่าวยังไม่สามารถแปรผลได้ 100 เปอร์เซ็นต์
          ดังนั้นการรับประทานเห็ดไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก และที่สำคัญไม่รับประทานเห็ดกับสุรา หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการทางระบบประสาทให้หยุดรับประทานทันที แล้วรีบไปโรงพยาบาลในพื้นที่พร้อมทั้งนำตัวอย่างเห็ดสด (ถ้ามี) ที่เหลือจากการปรุงอาหารที่รับประทานไปด้วย เพื่อส่งตรวจพิสูจน์สารพิษและสายพันธุ์เห็ดพิษ” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: กรุงเทพธุรกิจ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น