วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563

คุณกำลังเสพติด ความหวานหรือไม่

อยากรู้ไหมว่าตัวเองให้ติดหวานอยู่หรือเปล่าลองมาทำแบบทดสอบง่ายๆ นี้กันดีกว่า จะได้ชี้ชัดกันไปเลยว่าคุณติดหวานหรือไม่? มาเช็คกันเลย

ต้องกินน้ำหวานหรือน้ำปั่นทุกวัน แถมบางวันเพิ่มวิปครีม เพิ่มน้ำเชื่อมอีก

กินก๋วยเตี๋ยวเป็นต้องใส่น้ำตาลหลายๆ ช้อน จนน้ำแทบจะเป็นน้ำเชื่อม

รู้สึกอยากกินของหวานๆ ตลอดเวลา จนต้องมี ขนมหรือลูกอมติดโต๊ะเสมอ

เห็นร้านเค้ก ร้านไอศกรีม ร้านขนมหวานเป็นต้องแวะเดินโฉบเข้าไปทุกครั้ง

วันไหนไม่ได้กินของหวานจะหงุดหงิด กระสับกระส่ายเป็นพิเศษ

รู้สึกฟินมากทุกครั้งเมื่อได้ลิ้มรสหวาน

เมื่อรู้สึกแย่จะมองหาของหวานกินแก้เครียด

ชอบกินของหวานเป็นอาหารจานหลัก ส่วนของคาวกินแค่พออิ่ม

ถึงจะกินข้าวอิ่มแล้ว แต่ก็พร้อมเสมอสำหรับของหวานจานใหญ่

กินขนมหวานชิ้นเดียวไม่เคยพอ ต้องจัดเต็มตลอด

เช็คผลลัพธ์

ตรงเกิน 8 ข้อ: คุณกำลังเสพติดความหวานอย่างหนักแล้ว ลดการทานของหวานให้น้อยลงเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณด่วน!!

ตรงเกิน 6 ข้อ: คุณเสพติดของหวานมากเหมือนกันนะ รีบปรับการกินหวานให้น้อยลงก่อนที่จะเสพติดหนักกว่านี้ดีกว่า

ตรงเกิน 4 ข้อ: อย่าเพิ่งชะล่าใจไป!! คุณก็เสพติดความหวานเหมือนกัน แต่อยู่ในระดับปานกลาง

จะทำอย่างไรดี...ติดน้ำตาลเสียแล้ว

ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการหักดิบ เพราะสุดท้ายร่างกายจะทนไม่ไหว และกลับไปกินน้ำตาลในปริมาณที่มากกว่าเดิม ควรเริ่มจากค่อยๆ กินน้ำตาลน้อยลง เช่น กินน้ำหวานทุกวันก็ปรับเป็นกินน้ำเปล่าแทน พอร่างกายเริ่มชินก็เปลี่ยนเป็นกินหวานน้อยแบบพอดีแทน

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, นิตยสาร SOOK

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กินเจ ระวังแพ้ถั่วเหลือง

แพทย์ มธ.เตือนคนไทยกินเจระวังแพ้ “นมถั่วเหลือง-โปรตีนเกษตร” อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตถ้ากินซ้ำชนิดกันเป็นเวลานาน พบคนที่แพ้นมวัว แพ้นมถั่วเหลืองด้วย 15-30%

พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อาหารเจส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยธัญพืชจำพวกถั่ว งา ผักและผลไม้ ซึ่งการรับประทานช่วงนี้ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับช่วงวัยและสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยเฉพาะผู้ป่วยแพ้อาหาร เช่น แพ้นมวัว นมถั่วเหลือง หรือแพ้แป้งสาลี โปรตีนเกษตร จะมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะการรับประทานอาหารซ้ำชนิดกันเป็นเวลานานอาจกระตุ้นให้แพ้อาหารชนิดนั้นได้ ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยที่แพ้นมวัวมักจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยร้อยละ 15-30 ดังนั้นขอให้ระมัดระวังการรับประทานนมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ซีอิ๊ว อาหารที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่าง ๆ ราดหน้าใส่เต้าเจี้ยว น้ำจิ้มข้าวมันไก่ ฮ่อยจ๊อที่ห่อด้วยฟองเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปสำหรับทำอาหารเจ เช่น โปรตีนเกษตร และอาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม พญ.อรพรรณกล่าวว่า การสังเกตว่าตนเองแพ้อาหารหรือไม่นั้นดูได้จาก

1.อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นเล็กๆ นูน แดง คัน บวม คล้ายลมพิษ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร หรือมีผื่นอีกแดง คัน แห้ง ลอก ซึ่งในเด็กเล็กมักมีจะมีผื่นที่แก้ม ข้อศอก แต่เมื่อโตขึ้นจะมีผื่นที่ข้อพับ ซึ่งจะเป็นภายหลังรับประทานอาหารแล้วหลายวัน 

2.อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องแบบบิด 

3.อาการระบบทางหายใจ เช่น มีน้ำมูก คัดจมูก จาม หายใจไม่สะดวก โดยข้อควรระวังคือ หากเกิดการแพ้อย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักจะมีอาการหลายระบบ ทั้งอาการทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร รวมถึงระบบการไหลเวียนโลหิต ซึ่งหากปฏิกิริยานั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรง อาจมีผลทำให้ผู้ป่วยช็อก หมดสติ เขียว และเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากไม่มั่นใจว่าแพ้อาหารชนิดไหน ก่อนบริโภคควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดว่ามีภาวะแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

รู้จักสารพฤกษเคมี ในผลไม้ 5 สี


เมืองไทยมีผลไม้มากมายหลายชนิดให้ เลือกกิน  แต่หากแบ่งตามลักษณะสีผลไม้นั้น ๆ ก็จะเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์มากมายมหาศาล ผลไม้หลายประเภทให้ สารพฤกษเคมี (Phytochemicals)” ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ทาง ชีวภาพที่พบในพืช  ทำให้พืชผักและผลไม้  มีสี กลิ่น และรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พบมากในกลุ่มผลไม้ 5 สี ที่ให้สารพฤกษเคมีเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้แตกต่างกัน

ผลไม้สีแดง / ชมพูอมม่วง มีสารไลโคปีน  (Lycopene)  และบีทาเลน(Betalain)  ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง และทำให้หัวใจแข็งแรง พบได้ในแตงโม มะเขือเทศ แก้วมังกรเนื้อชมพู  บีทรูท ตะขบ สตรอเบอร์รี่ ฝรั่ง และมะละกอเนื้อแดง

 

ผลไม้สีเขียว นอกจากมีสารคลอโรฟิลล์  (Chlorophyll) แล้ว ยังมีสารลูทีน (Lutin) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง และลดการเสื่อมของจอประสาทตา ผลไม้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ฝรั่ง อะโวคาโด แก้วมังกร น้อยหน่า แตงไทย องุ่นเขียว ชมพู่เขียว แอปเปิลเขียว และมะกอกน้ำ    

ผลไม้สีน้ำเงิน / ม่วง มีสารแอนโทไซยานิน  (Anthocyanin)และกลุ่มโพลิพีนอล  (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันมะเร็งและไขมันอุดตันในหลอดเลือดชะลอความเสื่อมของเซลล์ผลไม้ในกลุ่มนี้  ได้แก่  องุ่นแดง  องุ่นม่วง  ชมพู่มะเหมี่ยว ลูกหว้า ลูกไหน และลูกพรุน 

ผลไม้สีขาว / สีน้ำตาล มีสารฟลาโวนอยด์  (Flavonoid)  หลายชนิดต้านอนุมูลอิสระ ลดการแบ่งตัวเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ ลดการปวดข้อเข่า พบมากในเนื้อและเปลือกมังคุด ฝรั่ง แอปเปิล แก้วมังกรเนื้อขาว เเละผลไม้อื่น ๆ เช่นกล้วย พุทรา ลางสาด ลองกอง เงาะ ลิ้นจี่ 

ผลไม้สีเหลือง / สีส้ม มีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สูงช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยต้านการอักเสบ และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน พบมากในมะม่วงสุก มะละกอสุก กล้วย แคนตาลูปสีเหลือง สับปะรด 

การจัดกลุ่มผลไม้ตามสีจะทำให้ง่ายต่อการเลือกกิน  และจะได้รับสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยควรกินให้ครบทุกสีในแต่ละวันแต่ต้องให้เหมาะสมกับฤดูกาลด้วย เพราะจะทำให้ได้ผลไม้ที่สด และราคาไม่แพง 

ขอขอบคุณ 

ข้อมูลจาก: กรมอนามัย

ภาพจาก: Freepik

 

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กินเจลดเค็ม ได้บุญได้สุขภาพ

 กินเจลดเค็ม ได้บุญได้สุขภาพ

ปัจจุบันคนไทยกินเค็มเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่า โดยพบว่าปริมาณโซเดียมที่คนไทยกินเฉลี่ย 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ในแต่ละปีจึงมีผู้ป่วยถึง 2 ล้านคน ที่เกิดจากพฤติกรรมกินเค็ม 

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลกินเจนอกจากถือศีลละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว อยากชวนให้ร่างกายได้พักไต ด้วยการลดเค็มในเมนูเจ

มี 3 วิธีในการกินเจให้ได้สุขภาพดี ดังนี้ 
1. เลือกทานผักสด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าโดยต้องล้างผักให้สะอาด 
2. ลดเค็ม เลี่ยงอาหารแปรรูป หรือการทานน้ำซุปเพราะมีเกลือสูง 
3. หลีกเลี่ยงของมันของทอดและลดแป้ง หลายคนกินเจแล้วน้ำหนักเพิ่ม เพราะในเมนูเจมีแป้งสูง จึงควรชดเชยด้วยน้ำเต้าหู้ หรือธัญพืช ซึ่งจะช่วยต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการเติมแป้ง ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรลดปริมาณข้าวให้น้อยลง

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, เครือข่ายลดบริโภคเค็ม

เคล็ดลับเลือกกิน ให้ได้สุขภาพดี

 เคล็ดลับเลือกกิน ให้ได้สุขภาพดี

การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จะทำให้ร่างกายแข็งแรงและส่งผลดีในอนาคต ในทางตรงกันข้ามถ้าเลือกกินตามใจ ก็อาจเสี่ยงกับโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง และโรคอื่นอีกมากมาย

1.เลือกประเภทของผักให้หลากหลาย เลือกผักที่ปลอดภัยและล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน

2.การปรุงอาหาร ควรเลือกวิธีการนึ่ง ยำ อบ ลวก ต้ม ตุ๋น พยายามลดหรือหลีกเลี่ยงการปรุงประกอบอาหารที่ใช้กะทิหรือน้ำมัน นั่นคือ ไม่ผัด ไม่ทอด ไม่มัน

3.ควรลดการปรุงอาหารรสชาติจัด เพื่อเลี่ยงความหวาน มัน และเค็ม

4.ปริมาณที่ควรรับประทาน คือหนึ่งมื้อ หนึ่งจาน หรือชาม

5.ควรรับประทานผลไม้เป็นอาหารว่าง 1-2 มื้อต่อวัน โดยเลือกผลไม้หวานน้อย

6.ควรดื่มนม โดยเป็นนมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนย โยเกิร์ตพร่องมันเนย และขาดมันเนยรสธรรมชาติ หรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม ชนิดไม่ใส่น้ำตาล

7.ควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, เอกสารความรู้เครือข่ายคนไทยไร้พุง