วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


ซื้อน้ำแข็งผ่านมาตรฐาน GMP ลดเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์

         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาดปลอดภัยได้รับการรับรองมาตรฐาน ช่วยลดความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ พร้อมเน้นย้ำผู้ผลิตให้คุมเข้มทุกขั้นตอน
        นายแพทย์ดนัย  ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย  เปิดเผยว่า น้ำแข็งที่ใช้บริโภคหากกระบวนการผลิต ไม่ได้มาตรฐาน อาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารตามมาได้ ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อน้ำแข็งที่ผลิตถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP ซึ่งเมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่น ๆ อยู่ก้นแก้ว  ส่วนผู้จำหน่ายน้ำแข็งต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัย  สถานที่เก็บรักษาเพื่อจำหน่ายต้องมีระดับสูงกว่าทางเดิน ง่ายต่อการทำความสะอาด และไม่มีสิ่งปนเปื้อนในน้ำแข็ง ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาด ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้วหรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือปุ๋ย เป็นต้น ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็งต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งอย่างเดียว ยกเว้นให้มีได้เฉพาะที่ตักน้ำแข็งมีด้าม เพื่อใช้ตักน้ำแข็งเท่านั้น ถ้าพบว่ามีการนำขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ผักหรือเนื้อสัตว์ แช่รวมกันอยู่ในถังน้ำแข็งนั้น ก็ไม่ควรนำมาใช้เพื่อการบริโภค
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า  น้ำแข็งที่แบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายต้องมีภาชนะปกปิดมิดชิด ไม่ควรวางอยู่บนพื้น ทางเท้า หรือใกล้ถังขยะ ภาชนะที่ใช้เก็บสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ใช้มือกอบน้ำแข็ง  ถุงบรรจุต้องสะอาด ในส่วนของรถขนส่งนั้นต้องเป็นรถที่สะอาด โดยเฉพาะพื้นรถที่วางน้ำแข็งต้องมีการ ล้างฆ่าเชื้อก่อนทำการขนส่ง และมีมาตรการควบคุมอุณหภูมิน้ำแข็งให้สม่ำเสมอ ส่วนร้านอาหารต้องเก็บน้ำแข็ง  ในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ภาชนะต้องไม่เป็นสนิม สามารถเก็บความเย็นได้ดี ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภคโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ การผลิตน้ำแข็งจะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างกว่าจะถึงมือผู้บริโภค หากผู้ผลิตไม่มีความระมัดระวังตั้งแต่ต้น เริ่มจากคุณภาพของน้ำที่นำมาผลิต การเก็บ การขนส่ง รวมถึงภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งไม่สะอาดพอ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และ ฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลากต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือ GMP เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมีการควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะการจำหน่ายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535                          

ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก : กรมอนามัย
ภาพจาก : Freepik


วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


5 ผักตัวช่วยสร้างนมแม่


นมแม่อาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีสารช่วยสร้างเซลล์สมอง
เส้นใยประสาทสมอง และจอประสาทตา มีภูมิต้านทานโรค ทำให้ ลูกน้อยแข็งแรง สุขภาพดี
ไม่เจ็บป่วยง่าย คุณแม่ที่ให้นมลูกจึงควรกินอาหารที่มี ส่วนประกอบของผักชนิดต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มปริมาณ น้ำนม ดังนี้

หัวปลี
มีธาตุเหล็กมาก ช่วยบำรุงน้ำนมได้ดี นำมาประกอบอาหาร เช่น แกงเลียง ยำหัวปลี ทอดมันหัวปลี
ต้มข่าไก่ใส่หัวปลี หัวปลีชุบแป้งทอด ต้มหัวปลีจิ้มน้ำพริก

ขิง
ช่วยขับเหงื่อ ขับลม ไล่ความเย็น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น นำมาประกอบอาหาร เช่น มันต้มขิง ปลาผัดขิง กระเพาะหมูผัดขิง

ใบกะเพรา
มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม บำรุงธาตุ เพิ่มน้ำนม นำมาประกอบอาหาร เช่น ผัดกะเพราหมู ไก่ หรือปลา ต้มจืดใบกะเพราหมูสับ

ฟักทอง
อุดมไปด้วยวิตามินเอ ฟอสฟอรัส และเบต้าแคโรทีน นำมาประกอบอาหาร เช่น แกงเลียง ฟักทองนึ่ง ฟักทองผัดไข่ แกงบวดฟักทอง

กุยช่าย
ทั้งต้นและใบช่วยบำรุงน้ำนม นำมาประกอบอาหาร เช่น กินแนมกับผัดไทย กุยช่ายทอด ผัดกุยช่ายตับ

อย่าลืมว่า หัวใจสำคัญของแม่หลังคลอด คือกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อในปริมาณ ที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีและมีน้ำนมให้ลูก เพียงพอ

ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก : กรมอนามัย


วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


วิจัยฟ้าทลายโจร 



กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลวิจัยพบฟ้าทลายโจร มีผลในการยับยั้งไวรัสโดยตรง และยับยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ ดังนั้นไม่ควรรับประทานฟ้าทลายโจรเพื่อหวังผลการป้องกันโควิด-19
ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าฟ้าทลายโจรมีฤทธิ์สำคัญ 4 อย่างคือ 1.ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 2.ฤทธิ์ต้านไวรัส 3.ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และ 4.ฤทธิ์ลดไข้ ทั้งนี้ เมื่อ 10 ปีก่อนเมื่อครั้งที่โคโรนาไวรัสซาร์สระบาด ประเทศจีนมีการศึกษาวิจัยพบว่าฟ้าทลายโจรสามารถต้านไวรัสโคโรนาไวรัสซาร์สได้ ล่าสุด จีนได้พัฒนาฟ้าทลายโจรเป็นยาฉีด ตำรับร่วมรักษาโควิด-19 สำหรับไทยเองกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษาวิจัยฤทธิ์ฟ้าทลายโจร ในหลอดทดลองในเดือนที่ผ่านมา
ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการศึกษาวิจัยว่า การทดลองนี้สามารถสรุปได้ว่าในการทดลองที่ 3 สามารถตอบโจทย์ได้ว่าฟ้าทลายโจรมีผลในการยับยั้งไวรัสโดยตรง และยับยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์ ทั้งนี้ การศึกษานี้เป็นการศึกษาในหลอดทดลอง และเป็นการศึกษาเบื้องต้น ดังนั้น หากจะบอกว่ามีผลกับคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จริง ก็ต้องศึกษาต่อไป
ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ เภสัชกรเชี่ยวชาญ ที่ปรึกษากรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงข้อแนะนำการใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจรว่า จากผลการทดลองที่ทราบคงเห็นว่า วิธีการทดสอบวิธีที่ 1 นั้น ฟ้าทลายโจรไม่มีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ ดังนั้นไม่ควรรับประทานฟ้าทลายโจร เพื่อหวังผลการป้องกันโควิด-19 โดยที่ยังไม่มีอาการ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการคล้ายหวัด เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อย ควรกินฟ้าทลายโจรทันที เพราะจากประสบการณ์ที่หลายคนใช้จะพบว่า ทานให้เร็วที่สุดจะดีที่สุด แต่ก็ต้องป้องกันการแพร่เชื้อจากตัวเราไปสู่ผู้อื่นตามที่ สธ.แนะนำ ทั้งนี้ หากกินฟ้าทลายโจรแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้พบแพทย์
"ฟ้าทลายโจรควรมีไว้ติดตัว หรือประจำบ้าน ดังนั้น หากช่วงนี้หาไม่ได้ก็อาจปลูกไว้ที่บ้าน แต่ถ้ามีข้อสงสัยให้โทรมาที่ 0-2149-5678 โดยการใช้ยาฟ้าทลายโจรมีประเด็นคือมี 2 รูปแบบ คือเป็นผงและสารสกัด โดยยาชนิดผงแนะนำให้ทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ชนิดสารสกัดมี 2 รูปแบบคือ บรรจุ 10 มิลลิกรัม และ 20 มิลลิกรัมต่อแคปซูล โดยแบบ 9-10 มิลลิกรัม แนะนำให้ทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ส่วนแบบ 20 มิลลิกรัม แนะนำให้ทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน" ดร.ภญ.อัญชลี กล่าว
นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ในการศึกษาวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยด้วยสารสกัดฟ้าทลายโจร ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) เป็นสารสำคัญในการต้านเชื้อไวรัสโคโรนา จะเริ่มศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง (Mild case) ผู้ป่วยทั้งหมดนี้จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส จะได้รับเพียงยารักษาตามอาการของโรค จะเริ่มใช้กับผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในสถาบันบำราศนราดูร เริ่มทดลองภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
โดยการดำเนินการจะแบ่งผู้ป่วย Mild case ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ราย รวมทั้งสิ้น 12 ราย ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 จะได้รับยาแคปซูลสารสกัดฟ้าทลายโจร ครั้งละ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 วัน คิดเป็น 3 เท่าของขนาดปกติ กลุ่ม 2 จะได้รับยาแคปซูลสารสกัดฟ้าทลายโจร ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน คิดเป็น 5 เท่าของขนาดปกติ

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


ชวนลูก-หลาน ส่งอาหารแห้ง เก็บได้นาน สร้างโภชนาการดีให้ผู้สูงวัย


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนลูก หลาน ส่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เน้นอาหารแห้ง เก็บได้นาน เพื่อมอบความรัก ความห่วงใยให้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ การส่งมอบความรัก ความห่วงใยไปยังผู้สูงวัย ในช่วงที่ประเทศไทยงดการเดินทางข้ามจังหวัด หรือเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็สามารถทำได้ผ่านการสื่อสารออนไลน์ หรือจัดส่งสิ่งของอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางจัดส่งต่าง ๆ ซึ่งของ อุปโภคที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ อาทิ ข้าวกล้อง วุ้นเส้น ธัญพืชอบแห้ง นม UHT รสจืด เมล็ดพืชที่ปลูกง่าย และเป็นแหล่งของพลังงาน วิตามิน เกลือแร่ เช่น ข้าวโพดเหลือง  ข้าวโพดม่วง ถั่วเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน ผักบุ้ง เป็นต้น และอาหารอื่นๆ เช่น ปลากรอบ ปลาเล็กปลาน้อย ปลาแห้ง หมูแดดเดียว ไก่แดดเดียว ไข่เค็ม หมูหยอง ไก่หยอง ซึ่งเป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการเก็บไว้ได้นาน ถึงแม้ว่าอาหารเหล่านี้จะเก็บได้นาน แต่ควรกินแต่น้อยสลับกับการกินอาหารอื่นด้วย
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลต่ำ เช่น วุ้นเส้น นมรสจืด นมถั่วเหลืองชนิดน้ำตาลต่ำ ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ไข่เค็ม หมูแดดเดียว และผลิตภัณฑ์หมักดอง เพื่อความมั่นใจด้านความปลอดภัยผู้ซื้อควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้มีการควบคุมปริมาณน้ำตาลและโซเดียมตามเกณฑ์ที่กำหนด” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ขอขอบคุณ
ข้อมูจาก : กรมอนามัย
ภาพจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ


วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER

ลด อ้วน... อย่างยั่งยืน


อ้วนลงพุง เกิดจากการมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป ไขมันนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดเป็นโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ อย่างไรก็ตามมีหลักการพิชิตอ้วน พิชิตพุง ดังนี้
> จดบันทึก
น้ำหนักและรอบพุงที่ลดได้ จะเป็นกำลังใจและแรงกระตุ้นให้เรา
> หาเพื่อนร่วมอุดมการณ์
คอยเตือนกัน ไม่ให้ออกนอกลู่ทาง
> ปรับชีวิตประจำวัน
เพิ่มการเดิน ขยับร่างกาย ลดขนมและเครื่องดื่มรสหวาน
> ให้รางวัลตัวเอง
เมื่อทำได้ตามเป้าหมาย เช่น ซื้อชุดใหม่ที่อยากใส่เมื่อน้ำหนักลด
> เปลี่ยนบรรยากาศ
หากิจกรรมที่ออกกำลังกายใหม่ ๆ จะได้ไม่น่าเบื่อ
> นึกถึงประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้
สุขภาพแข็งแรง  ใส่เสื้อผ้าได้อย่างมั่นใจขึ้น
> หาแรงจูงใจ
ที่จะทำให้สำเร็จ เช่น ทำเพื่อคนที่เรารัก 
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก : แผ่นพับไร้พุงไร้โรค ด้วยหลัก 3 อ. เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ภาพจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ