วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ชูผักพื้นบ้าน ปรุงเมนูต้านหนาว

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำเมนูเด็ด แกงขี้เหล็ก แกงยอดมะขาม อาหารรสเปรี้ยวอมขมจากผักพื้นบ้านตามฤดูกาล เพิ่มความอบอุ่นและเสริมภูมิคุ้มกันต้านโรคหวัด พร้อมแนะยึดหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ สร้างสุขภาพดีรับหน้าหนาว 

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการเลือกกินอาหารในช่วงหน้าหนาว ว่า ปัญหาสุขภาพที่มากับหน้าหนาวมักมีผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายคือ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง ประชาชนจึงควรกินอาหารที่เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย และเป็นอาหารที่ร้อนและปรุงสุกใหม่ ๆ เลือกทำเมนูอาหารจากผักพื้นบ้านตามฤดูกาลและหาได้ง่าย ในช่วงหน้าหนาว เช่น ดอกขี้เหล็ก พริกหนุ่ม/พริกหวาน ใบเหลียง กระเจี๊ยบ เพราะมีวิตามินซีช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านโรคหวัดและเน้นเมนูอาหารที่มีเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อนเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้ เช่น แกงส้ม แกงป่า แกงขี้เหล็ก แกงเลียง แกงแค เป็นต้น แต่หากจะกินอาหารจำพวกอาหารทอดหรือกะทิ อาจทำได้โดยมีอาหารที่ใช้ไขมันในการประกอบอาหาร 1 รายการต่อมื้อ เช่น ไข่เจียวคู่กับแกงส้ม  ปลาทอดคู่กับแกงเลียง และควรกินอาหารร่วมกับผักสดอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี 

ทั้งนี้ อากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลจะทำให้ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบการย่อยอาหาร ผิวหนังแห้งแตกและคัน ประชาชนจึงควรเอาใจใส่ดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน กินอาหารตามหลักโภชนาการ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที นอนหลับให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพื่อให้ร่างกายพร้อมรับกับ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกฤดูกาล” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: กรมอนามัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

แนะผู้เเพ้น้ำผึ้ง เลี่ยงขนมที่มีน้ำผึ้งเป็นส่วนผสม

 

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง  เตือนผู้ที่ประวัติแพ้น้ำผึ้งให้หลีกเลี่ยงขนมที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้ง เพราะอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีห้ามรับประทานน้ำผึ้ง เพราะในน้ำผึ้งอาจมีแบคทีเรียปนเปื้อนตามธรรมชาติ  ทำให้ทารกป่วยได้  พร้อมแนะวิธีป้องกันและปฏิบัติตนให้ถูกวิธี 

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า น้ำผึ้งเป็นสารประกอบซับซ้อน ที่ผึ้งสร้างขึ้นมาในรวงผึ้ง น้ำผึ้งมีส่วนประกอบจากหลายแหล่ง คือ

1.สารประกอบที่ผึ้งสร้างขึ้น เช่น สารคัดหลังจากต่อมน้ำลายและต่อมในคอหอยของผึ้ง ขี้ผึ้ง โพรโพลิส สารที่เกิดระหว่างผึ้งสร้างรวงผึ้ง

2.สารประกอบจากดอกไม้ที่ผึ้งไปตอมผสมเกสร เช่น น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ละอองเกสรดอกไม้  อาการแพ้น้ำผึ้งพบได้น้อย คาดว่าพบได้ประมาณ < 0.001% ของประชากร  อาการแพ้รุนแรง เช่น  anaphylaxis พบน้อยมาก แต่ถ้าเกิดขึ้นอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำผึ้งอาจเป็นส่วนผสมอยู่ในขนมต่าง ๆ เช่น ช็อคโกแลต ลูกอม เค้ก  ผู้ที่แพ้น้ำผึ้งอาจมีอาการแตกต่างกัน ตั้งแต่มีผื่นลมพิษเล็กน้อย จนถึงขั้นรุนแรง บางคนอาจมีประวัติแพ้น้ำผึ้งหรือขนมที่ผสมน้ำผึ้ง หลังจากรับประทานน้ำผึ้งหรือขนมผสมน้ำผึ้ง ภายใน 1 ชั่วโมงจะมีปากบวม แน่นหน้าอก เสียงแหบ คัดจมูก แล้วค่อยๆ มีผื่นลมพิษแดงคันทั้งตัวความดันโลหิตต่ำที่เป็นอาการแพ้รุนแรงแบบ anaphylaxis  

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การรักษาอาการแพ้รุนแรง คือ ผู้ป่วยต้องรีบไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์จะได้ฉีดยาแก้แพ้อย่างเร่งด่วน การป้องกัน คือ ห้ามรับประทานน้ำผึ้งและขนมที่ผสมน้ำผึ้ง  ก่อนรับประทานขนมที่ไม่เคยกินมาก่อน ต้องอ่านฉลากบนกล่องขนมว่ามีส่วนผสมของน้ำผึ้งอยู่หรือไม่ 

นอกจากนี้ น้ำผึ้งอาจมีสปอร์ของแบคทีเรีย Clostridium botulinum ปนเปื้อนตามธรรมชาติ  ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี มีสภาวะในทางเดินอาหารที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของ C.botulinum  ถ้าทารกกินน้ำผึ้งที่ปนเปื้อน C.botulinum เชื้ออาจเข้าไปเจริญเติบโตในทางเดินอาหารและสร้างท็อกซิน ทำให้เกิดโรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism) จึงห้ามทารกรับประทานน้ำผึ้ง

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, กรมการแพทย์

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เปลี่ยนการกิน ก่อนป่วย ด้วยหลักคิด 9 ก่อนกิน


   การกินมากหรือกินไม่ถูกต้อง นำมาซึ่งโรคภัยต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง เป็นต้น เราควรหันมาดูแลสุขภาพ รีบเปลี่ยนการกิน ก่อนจะป่วย ด้วยหลักคิด 9 ก่อนกิน 

1. กินอาหารครบ 5 หมู่

2. เลี่ยงอาหารรสหวานจัด มันจัด และเค็มจัด  หวาน 6 - มัน 6 เค็ม 1

3. กินในปริมาณเท่าที่ร่างกายต้องการ  ทำงานน้อย กินน้อย ทำงานหนัก กินมากหน่อย กินให้เหมาะกับวัยและกิจกรรมของตนเอง

4. ออกกำลังกายให้เหมาะกับวัยและอาหารที่บริโภค  ถ้ากินอาหารมากเกินความต้องการ ร่างกายก็จะเก็บสะสมไว้เป็นไขมัน เมื่อพลังงานที่ได้รับเกินทุก ๆ 7,700 กิโลเเคลอรี่ น้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้นอีก 1 กิโลกรัม

5. หมั่นดูแลน้ำหนักตัว  รักษาดัชนีมวลกายให้ต่ำกว่า 23 & รอบพุงไม่เกิน 36 นิ้ว (ชาย) ไม่เกิน 32 นิ้ว (หญิง)

6. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย  วันละ 1 -2 แก้ว เลือกดื่มนมจืด นมพร่องมันเนย นมไขมันต่ำ

7. เลิกบุหรี่ ยาเสพติด

8. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

9.ผ่อนคลายจิตใจ

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, หนังสือคู่มือกินน้อย อ่อนหวาน มันน้อย ถอยเค็ม