วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

แนะวิธีกำจัดความเค็มจากน้ำประปา

 


ในช่วงนี้พบว่าคนกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลประสบภาวะน้ำประปาเค็ม เกินมาตรฐาน สร้างความกังวลให้กับผู้ที่ต้องบริโภคน้ำประปา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้แนะนำวิธีกำจัดความเค็มเพื่อสุขภาพที่ดี

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน พบว่า คนกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลประสบภาวะน้ำประปาเค็ม สร้างความกังวลให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องบริโภคน้ำประปาโดยไม่ผ่านเครื่องกรองน้ำ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นสาเหตุของน้ำประปาเค็มเกิดจากสภาวะภัยแล้งและมวลน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติทำให้น้ำเค็มขึ้นมาถึงจุดรับน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาส่งผลให้แหล่งน้ำผลิตประปามีความเค็มเกินมาตรฐาน

โดย วศ. ได้ทดลองเก็บตัวอย่างน้ำประปาภายในกรมฯ มาตรวจหาปริมาณคลอไรด์ เมื่อวันที่ 3 และ 8 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามีค่าคลอไรด์เท่ากับ 345 และ 271 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานที่กำหนดของน้ำบริโภคจะต้องมีค่าคลอไรด์สูงสุดไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งโทษของการบริโภคน้ำเค็มนั้นไม่มีอันตรายต่อคนทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ เนื่องจากในชีวิตประจำวันเราได้รับคลอไรด์จากการรับประทานอาหารมากกว่าในน้ำดื่มแต่จะมีผลกระทบเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคทางสมอง

พร้อมกันนี้ วศ. ได้แนะนำวิธีกำจัดความเค็มจากน้ำประปา ซึ่งประกอบด้วย 3 วิธี คือ

1. การกลั่น (Distillation) สามารถกำจัดทั้งคลอไรด์และของแข็งที่ละลายน้ำได้

2. การกรองด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) สามารถกำจัดคลอไรด์โดยการใช้แรงดันน้ำผ่าน membrane ระบบ RO นี้ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารต่าง ๆ ออกจากน้ำโดยเฉพาะสารที่มีขนาดเล็กมาก เช่น โซเดียมไอออนและคลอไรด์ไอออน

3. Deionization หรือขบวนการขจัดไอออน สามารถกำจัดคลอไรด์โดยการดูดซับด้วย anion-exchange resin ซึ่งสามารถดูดซับแอนไอออนตัวอื่นได้ด้วย เช่น ซัลเฟต ถ้ามีซัลเฟตในน้ำตัวดูดซับจะจับกับซัลเฟตได้ดีกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซับคลอไรด์ลดลง การต้ม (Boiling) การดูดซับด้วยคาร์บอน (Carbon Adsorption Filters) และ Water Softener ไม่สามารถกำจัดคลอไรด์ได้

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ และประชาชนสามารถติดตามรายงานคุณภาพน้ำประปารายวันในพื้นที่ กทม. นนทบุรีและสมุทรปราการ ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ของการประปานครหลวงได้เพื่อเตรียมสำรองน้ำสำหรับดื่มไว้ล่วงหน้า เพราะในช่วงเวลาของแต่ละวันความเค็มของน้ำจะแตกต่างกัน หรือส่งมาทดสอบได้ที่ วศ. เพื่อทดสอบหาปริมาณคลอไรด์ในน้ำ

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, กรมวิทยาศาสตร์บริการ

ภาพบางส่วนจาก: Freepik

 

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กินปลาท่องโก๋บ่อย เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง

 


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สุ่มตรวจปาท่องโก๋ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนบอแรกซ์ สารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ และตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอะคริลาไมด์ หรือ AA ซึ่งเป็นสารที่พบในกระบวนการผลิตอาหารที่ผ่านการทอดด้วยน้ำมันโดยใช้ความร้อนสูง โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้งสูง และมีรายงานการศึกษาด้านพิษวิทยาพบว่าอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่า เบื้องหลังความกรอบของปาท่องโก๋ อาจมีภัยเงียบจากผงกรอบ หรือที่รู้จักกันในชื่อทั่วไปว่าน้ำประสานทอง หรือ บอแรกซ์ และการใช้น้ำมันทอดซ้ำของพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย ด้วยเหตุนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปาท่องโก๋ที่จำหน่ายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 80 ตัวอย่าง แยกเป็นปาท่องโก๋แบบคู่และซาลาเปา 61 ตัวอย่าง ปาท่องโก๋จิ๋วกรอบ 14 ตัวอย่าง และปาท่องโก๋ที่แบรนด์ดังที่ได้รับความนิยมสูง 5 ตัวอย่าง

ผลจากการตรวจด้วยชุดทดสอบบอแรกซ์ ไม่พบการปนเปื้อนบอแรกซ์ในทุกตัวอย่าง และจากการดมกลิ่นปาท่องโก๋พบว่ามีกลิ่นแอมโมเนีย 7 ตัวอย่าง ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งอาจมาจากแอมโมเนียมไบคาร์บอเนต (Ammonium Bicabonate) หรือเบคกิ้งแอมโมเนีย ซึ่งช่วยให้ปาท่องโก๋พองฟู สำหรับการใช้น้ำมันทอดซ้ำได้สุ่มตัวอย่างปาท่องโก๋ จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจด้วยชุดทดสอบสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ ตรวจไม่พบทุกตัวอย่าง

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากปาท่องโก๋เป็นอาหารที่มีแป้งสูงและผ่านกระบวนการทอดด้วยน้ำมัน โดยใช้ความร้อนสูง ทำให้มีโอกาสที่จะพบสารอะคริลาไมด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างกรดอะมิโนชนิดแอสพาราจีนกับน้ำตาลรีดิวซิง เช่น กลูโคสและฟลุคโตสที่อุณหภูมิเกินกว่า 120 องศาเซลเซียส หรือใช้เวลาในการปรุงอาหารนานเกินไป จนอาหารมีความชื้นต่ำ ปฏิกิริยานี้มีชื่อว่า Maillard reaction มีผลให้อาหารมีสีน้ำตาล โดยมีรายงานการศึกษาด้านพิษวิทยา พบว่า ถ้าได้รับปริมาณมากมีพิษต่อระบบประสาท และหน่วยงาน International Agency for Research on Cancer (IARC) จัดเป็นสารในกลุ่มที่อาจก่อมะเร็งในคน จึงได้มีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณอะคริลาไมด์ในปาท่องโก๋ จำนวน 25 ตัวอย่าง ได้แก่ ปาท่องโก๋จิ๋วแบบกรอบ 14 ตัวอย่าง ปาท่องโก๋แบบคู่ 6 ตัวอย่าง และปาท่องโก๋ชื่อดัง 5 ตัวอย่าง

ตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Liquid Chromatograph/Triple quadrupole Mass Spectrometer (LC-MS/MS) ตรวจพบอะคริลาไมด์ในปริมาณน้อยกว่า 0.04-0.48 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งมีค่าเฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบปริมาณเฉลี่ยในปาท่องโก๋จิ๋วแบบกรอบ ปาท่องโก๋แบบคู่และปาท่องโก๋แบรนด์ เท่ากับ 0.31, 0.09 และ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณอะคริลาไมด์ในปาท่องโก๋กับ ขนมทอดอื่นๆ เช่น กล้วยทอด (กล้วยแขก) เผือกทอด มันทอด มันฝรั่งทอด (เฟรนด์ฟรายด์) จากข้อมูลการประเมิน ความเสี่ยงอะคริลาไมด์ในอาหารของไทย (ปี พ.ศ. 2554) พบปริมาณอะคริลาไมด์ใกล้เคียงกับเผือกทอด ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 0.14 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และต่ำกว่ามันฝรั่งทอด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.71 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

จากการสุ่มตรวจปาท่องโก๋ที่จำหน่ายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีความปลอดภัย ไม่พบการปนเปื้อนบอแรกซ์ ไม่พบสารโพลาร์ในปาท่องโก๋จากการใช้น้ำมันทอดซ้ำ และตรวจพบอะคริลาไมด์ในปริมาณที่พบได้ในอาหารทอดทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการประเมินความเสี่ยงอะคริลาไมด์ในอาหารของไทย (ปี พ.ศ. 2554) พบว่า การได้รับอะคริลาไมด์ จากการบริโภคยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

สำหรับการทำปาท่องโก๋โดยใช้สูตรที่มีแอมโมเนียมไบคาร์บอเนตนั้น หากใช้ในปริมาณพอเหมาะ เมื่อนำไปทอดผ่านความร้อนสารนี้ก็จะระเหยออกไปหมด โดยไม่ส่งกลิ่นทิ้งไว้ในปาท่องโก๋และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กรณีที่ใช้ในปริมาณมากเกินไป ไอระเหยอาจจะทำให้ผู้ทอดเกิดอาการระคายเคืองในลําคอ จึงควรหลีกเลี่ยงการสูดดมแก๊สแอมโมเนียที่ระเหยออกมา

"ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและเป็นการรักษาสุขภาพ ไม่ควรรับประทานปาท่องโก๋ต่อเนื่องติดกันเป็นประจำทุกวัน ในกรณีที่รับประทานปาท่องโก๋เป็นอาหารเช้าควรหาอาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่ดาวหรือไข่ต้ม เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานโปรตีนจากอาหารอื่นเพิ่มเติมไปด้วย และก่อนซื้อให้มองดูน้ำมันในกระทะที่ใช้ทอดปาท่องโก๋ ถ้าเห็นว่าน้ำมันเป็นสีดำเข้ม ควรเปลี่ยนไปเลือกซื้อเจ้าอื่นแทน” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข, ผู้จัดการออนไลน์

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

แนะตรุษจีน สั่งซื้ออาหารเซ่นไหว้ออนไลน์ ลดแออัด

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะการซื้อของไหว้ในช่วงตรุษจีนผ่านทางออนไลน์ ช่วยลดความแออัดแทนการไปซื้อของที่ตลาดสดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต และลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ระลอกใหม่ ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง กรมอนามัยยังคงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากเดิมจะมีชาวไทยเชื้อสายจีนมาจับจ่ายของเพื่อไหว้เทพเจ้าทั้งในตลาดสดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ปีนี้ อาจใช้วิธีการสั่งอาหารไหว้ทางออนไลน์แทน เพื่อลดความแออัด และสะดวก 

สิ่งที่ต้องระวังในการเลือกซื้อของไหว้ทางออนไลน์คือ

1) เลือกชื้อจากผู้ประกอบการที่เชื่อถือได้ โดยดูจากการประกอบการที่ทำมาอย่างต่อเนื่องระยะเวลานาน ชื่อเสียง และเสียงสะท้อนจากลูกค้าหรือรีวิว ควรเน้นช่องทางการติดต่อกับผู้ขายที่ชัดเจนและสะดวกเวลามีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า จะสามารถสอบถามได้ 

2) เลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่มีการรับรองคุณภาพสินค้าหรือสามารถแลกเปลี่ยนหรือคืนสินค้าได้ ของไหว้ที่เป็นอาหารต้องเน้นที่คุณภาพเป็นหลัก ซึ่งถ้าผู้ประกอบการส่งสินค้ามาแล้วไม่ได้คุณภาพ เช่น มีกลิ่น สีผิดปกติ มีลักษณะเหมือนจะบูดเน่า เช่น มีฟองก๊าซในอาหาร หรือมีร่องรอยเชื้อรา ก็สามารถคืน หรือเปลี่ยนได้

3) เลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่มีช่องทางในการเก็บเงินปลายทาง หรือมีระบบการโอนเงินให้ผู้ขายหรือตัดยอดเงินให้ผู้ขายเมื่อได้รับสินค้าแล้ว เพื่อจะได้มีเวลาในการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าที่ส่งมาให้ จะได้ไม่เกิดปัญหาเสียเงินไปแล้วได้ของที่ไม่มีคุณภาพ

4) ควรตรวจสอบสินค้าทันทีที่ได้รับ เมื่อผู้นำส่งมาส่งสินค้าต้องทำการตรวจสอบสินค้าทันที ของไหว้ที่เป็นอาหารควรอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด เรียบร้อยหรือบรรจุแบบสุญญากาศ ควรระบุวันผลิต และวันหมดอายุไว้ที่บรรจุภัณฑ์ หากบรรจุภัณฑ์ชำรุด ฉีกขาด ไม่ควรรับของ นอกจากนั้นควรสังเกตของไหว้ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ว่าสี กลิ่น ผิดปกติหรือไม่ อีกทั้งคนรับ คนส่งสินค้าต้องอย่าลืมสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง  ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ขอขอบคุณ

ข้อมูลและภาพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, กรมอนามัย

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เมนูคู่สุขภาพ: ขนมบุหลันดั้นเมฆ

 


ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: วารสารอาหาร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

บทความด้านอาหารที่น่าสนใจเพิ่มเติม --->> goo.gl/b6dGWD (ห้องสมุดประชาชน)

ภาพบางส่วนจาก: Freepik


วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เมนูคู่สุขภาพ: ซุปฟักทอง


ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: วารสารอาหาร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

บทความด้านอาหารที่น่าสนใจเพิ่มเติม --->> goo.gl/b6dGWD (ห้องสมุดประชาชน)

ภาพบางส่วนจาก: Freepik

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ห่วงน้ำประปาเค็มกระทบสุขภาพ แนะงดบริโภค


    

ขณะนี้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำประปามีรสชาติกร่อย มีความเค็มจากโซเดียมสูง แนะควรหลีกเลี่ยงการบริโภค โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต ตลอดจนผู้ป่วยโรคทางสมอง และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ประสบปัญหาน้ำประปามีรสชาติกร่อย เนื่องจากสภาวะภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้มีน้ำเค็มผ่านเข้าระบบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ซึ่งก็ยังใช้เพื่อการอุปโภคได้ตามปกติ

แต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต ตลอดจนผู้ป่วยโรคทางสมอง และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เพราะอาจได้รับปริมาณโซเดียม หรือความเค็มเกินปริมาณที่สามารถบริโภคได้ ซึ่งอาจจะส่งผลกับภาวะโรคที่เป็นอยู่ได้

ขอขอบคุณ

ข้อมูล: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

ภาพบางส่วนจาก: Freepik

 

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

3 วิธี ล้างผักผลไม้ให้สะอาดปลอดภัย

  

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ ผู้บริโภคที่ทำอาหารกินกันเองที่บ้าน นอกจากต้องให้ความสำคัญในการเลือกวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารแล้ว การล้างทำความสะอาดวัตถุดิบทุกครั้งก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในผักและผลไม้ต่าง ๆ ก่อนกินหรือนำมาปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค และละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ที่สัมผัสมาก่อนที่อาจติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่รู้ตัวได้

การป้องกันจึงต้องล้างผักผลไม้ให้สะอาด ซึ่งทำได้ 3 วิธีคือ

วิธีที่ 1 ให้ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนน้อย

วิธีที่ 2 แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์   ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด

วิธีที่ 3 ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด

ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อไวรัสและลดสารพิษตกค้างในผักผลไม้ได้

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: กรมอนามัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ