วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564

อะฟลาท็อกซิน ในอาหารแห้งเป็นสารก่อมะเร็งตับ

 


ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “อะฟลาท็อกซิน ในอาหารแห้งเป็นสารก่อมะเร็งตับ” กรมการแพทย์ โดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกรายงานว่าสารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์  

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า สารอะฟลาท็อกซินถูกสร้างจากเชื้อราในตระกูล Aspergillus มักพบปนเปื้อนผลผลิตทางการเกษตรหากเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ พริกไทย พริกป่น กระเทียม และหอมแดง เป็นต้น สารอะฟลาท็อกซินเป็นอันตรายทั้งในมนุษย์และสัตว์ มีความสามารถในการทนความร้อนได้สูง ซึ่งความร้อนที่ใช้ในการหุงต้มอาหารโดยทั่วไปตามบ้านเรือนนั้น ไม่สามารถทำลายสารดังกล่าวให้หมดไปได้ เมื่อมีการปนเปื้อนสารพิษดังกล่าวในอาหารและร่างกายได้รับสารนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งตับ เป็นต้น ซึ่งความเป็นพิษที่ส่งผลต่อร่างกายของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่รับ ความถี่ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย อายุ และความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายในแต่ละตัวบุคคล

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ  กล่าวเสริมว่า ควรเลือกซื้ออาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ไม่แตกหรือชำรุด มีส่วนประกอบและมาตรฐานความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ ซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่พอเหมาะและสดใหม่ เพื่อลดเวลาในการเก็บวัตถุดิบไม่ให้นานเกินไปและจัดเก็บอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: กรมการแพทย์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ภาพบางส่วนจาก: Freepik

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

หม้อทอดไร้น้ำมัน ใช้ถูกวิธีดีต่อสุขภาพ

        ปัจจุบันมีการนำหม้อทอดไร้น้ำมันมาใช้กันมากขึ้น เพื่อเป็นการลดปริมาณไขมันที่ได้จากการทอด ซึ่งหากใช้หม้อทอดไร้น้ำมันอย่างถูกวิธี จะส่งผลดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำหม้อทอดไร้น้ำมัน (Air Fryer) มาใช้กันมากขึ้น เพื่อเป็นการลดปริมาณไขมันที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมัน ซึ่งการทำงานของหม้อทอดไร้น้ำมันจะใช้หลักการเป่าลมร้อน และดึงความชื้นออกจากอาหาร เพื่อให้อาหารสุกและกรอบ คล้ายกับการทอดในน้ำมัน (deep fried) ดังนั้น หากใช้หม้อทอดไร้น้ำมันอย่างถูกวิธีจะส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ใช้ประกอบอาหารแทนการทอด เป็นการลดไขมันจากน้ำมันที่ใช้ทอด เนื่องจากอาหารบางชนิดมีน้ำมันในตัวอยู่แล้ว และช่วยอุ่นอาหารให้น่ากินอยู่เสมอ 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการกินอาหารแต่ละมื้อใน 1 วัน ควรกินให้หลากหลายเมนู ไม่ควรปรุงประกอบอาหารประเภทไขมันสูงเป็นประจำทุกมื้อ เช่น หมูกรอบ พิซซ่า หรือทำอาหารจำพวกเบเกอรี่ บ่อยจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการปรุงประกอบอาหารแปรรูป ประเภท ไส้กรอก ลูกชิ้น กุนเชียง เป็นประจำด้วย เนื่องจากจะทำให้ร่างกายได้รับไขมัน และโซเดียมในปริมาณสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ตามมาได้

นอกจากนี้ ไม่ควรปรุงอาหารในปริมาณมากเกินไปในครั้งเดียวบ่อย ๆ เพราะต้องกินอาหารชนิดเดิมซ้ำกันหลายๆ มื้อ จึงควรปรุงแต่พอดี โดยหมุนเวียนเปลี่ยนไปกินอาหารประเภทต้มและนึ่ง พร้อมทั้งเพิ่มผักผลไม้ด้วยทุกมื้อ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไม่ควรปิ้ง ย่าง จนไหม้เกรียม

และหลังจากประกอบอาหารทุกครั้ง ควรล้างหม้อและตะแกรงให้สะอาด เริ่มด้วยการขูดเศษอาหารที่ติดกับตะแกรงออกมาก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นล้างด้วยน้ำผสมน้ำยาล้างจานเพื่อขจัดคราบไขมัน และเศษอาหารที่ติดค้างอยู่ โดยใช้ฟองน้ำ ผ้าสะอาด หรือแผ่นใยสังเคราะห์ทำความสะอาด แล้วล้างออกด้วยน้ำอีก 2 ครั้ง เพื่อให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ยังติดค้างออกให้หมด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: เว็บไซต์มติชน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ภาพบางส่วนจาก: Freepik

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

10 เมนูอาหารที่ต้องระวังช่วงหน้าร้อน

 


เปิด 10 เมนูอาหารที่ต้องระวังช่วงหน้าร้อน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือน 10 เมนูอาหารที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อน เสี่ยงป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้อาหารบูดเสียง่าย แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมี รูป รส กลิ่น สีผิดปกติไม่ควรรับประทาน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี อาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง        จากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่ปี 2561-2563 รวมจำนวน 1,342,975 ราย  1,189,659 ราย และ 915,289 ราย ตามลำดับ จากสถานการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นผลมาจากที่ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และล้างมือบ่อย ๆ ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด การสุขาภิบาลอาหารและน้ำ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่

1.จ่อม/ก้อย/ลาบดิบ 

2.อาหารประเภทยำ 

3.อาหารทะเล 

4.ข้าวผัด/ข้าวผัดโรยเนื้อปู

5.ขนมจีน

6.สลัดผัก

7.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิ 

8.ส้มตำ 

 9.ข้าวมันไก่

10.น้ำแข็งที่ไม่สะอาด 

 ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทาน โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากเป็นอาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และรับประทานภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ หากมีรูป รส กลิ่น สีผิดปกติไม่ควรรับประทาน

เลือกซื้อวัตถุดิบที่สดสะอาด บริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากพืชและสัตว์ที่มีพิษหรือไม่รู้จัก ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว เมื่อรับประทานร่วมกัน เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 และก่อนหยิบจับหรือรับประทานอาหารควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: กรมควบคุมโรค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 

ภาพบางส่วนจาก: Freepik