วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


อร่อยรักษ์สุขภาพ สไตล์ผู้ป่วยความดันต่ำ
ผู้ป่วยความดันต่ำ มักจะมีอาการอ่อนเพลียง่าย ดังนั้นอาหารที่ควรเลือกรับประทาน เพื่อช่วยบำรุงระบบไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้น เช่น ผลไม้ที่มีวิตามินซี อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ธัญพืชต่างๆ
แนะนำให้ทาน
·         อาหารกลุ่มโปรตีนอย่าง เนื้อสัตว์ นมวัว นมถั่วเหลืองเต้าหู้และไข่ในทุกมื้ออาหาร เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของร่างกาย
·         วิตามินบีต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในเนื้อหมู ไก่ ถั่วต่าง ๆ ข้าวกล้อง ผักใบเขียวเข้ม ตับ ไข่แดง ฯลฯ และควรทานอาหารหลากหลาย สลับเมนูกันตลอด
·         ควรได้รับไขมันที่ดีจากปลา ถั่วขบเคี้ยวต่าง ๆ (ถั่วลิสง อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์)
เน้นว่าควรระวัง
·         หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณไขมันและโซเดียมสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป (ไส้กรอก เบคอน หมูยอ หมูหยอง ไส้อั่ว) เนื้อสัตว์ติดมันหรืออาหารแปรรูป เช่น ผลไม้ดอง
·         เบเกอรี่ และขนมอบทุกชนิด เพราะอาหารกลุ่มนี้มีส่วนประกอบของโซเดียมสูง 
 ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: เอกสารความรู้เครือข่ายคนไทยไร้พุง
ภาพจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยืนยันข่าวจริง
“WHO ฟันธง การรับประทานเนื้อแดงและอาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่”
ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็น “WHO ฟันธง การรับประทานเนื้อแดงและอาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่” นั้น กรมการแพทย์ โดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ตรวจสอบข้อมูลวิชาการพบข้อเท็จจริง คือ องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ หรือ International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ ส่วนเนื้อแดง เป็นกลุ่ม 2A คือ อาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์
           นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื้อสัตว์แปรรูป คือ เนื้อที่ผ่านการคลุกเกลือ หมัก บ่ม รมควัน และวิธีอื่น ๆ ที่เพิ่มรสชาติหรือถนอมอาหารให้ดีขึ้น เช่น แฮม ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ โดยการ   บริโภค เนื้อแปรรูปที่มากขึ้นและเป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้และไส้ตรงได้ ส่วนเนื้อแดงของสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อวัว หมู แกะ หมูป่า ม้า และแพะ เป็นต้น มีรายงานจาก IARC ที่ระบุว่า การกินเนื้อแดงมีความสัมพันธ์กับการเพิ่ม ความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้และไส้ตรง

            นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า เนื้อสัตว์แปรรูป จัดอยู่ในสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับ บุหรี่ แอลกอฮอล์ แร่ใยหิน สารหนู เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์แปรรูปก็ไม่ได้มีอันตรายมากเท่าสารเหล่านี้ ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ แปรรูปได้ แต่สิ่งสำคัญคือให้จำกัดปริมาณการรับประทานและเนื้อแดงก็เช่นเดียวกัน เพราะเนื้อแดงมีคุณค่า ทางโภชนาการและมีสารอาหารต่าง ๆ อาทิ โปรตีน สังกะสี เหล็กและวิตามินบี 12 ดังนั้น จึงไม่ควรงดรับประทานเนื้อแดง แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งกองทุนวิจัยมะเร็งโลกแนะนำว่าควรรับประทานเนื้อแดงไม่เกิน 500 กรัม ต่อสัปดาห์ และรับประทานโปรตีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม เช่น ไข่ เต้าหู้และถั่ว รวมทั้งการบริโภคอาหารให้มีความหลากหลาย
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก: Freepix

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


กรมอนามัยแนะเก็บน้ำฝนให้ปลอดภัย ควรต้มเดือดก่อนดื่ม
               กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนพื้นที่เสี่ยงใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เลี่ยงเก็บน้ำฝน หากจำเป็นควรทำความสะอาดรางรับน้ำฝน และภาชนะเก็บน้ำให้พร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัย ก่อนนำมาใช้ดื่มควรต้มให้เดือด ลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินอาหารและอุจจาระร่วงได้
นายแพทย์ดนัย  ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน การเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงแรก ๆ ที่ฝนตก อาจเกิดความสกปรกและความเสี่ยงจากสารเคมีได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม การจราจรหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM. 2.5 ควัน หรือก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมทั้งความสะอาดหลังคาที่รองรับน้ำฝน และภาชนะเก็บกักน้ำฝน สำหรับภาชนะบรรจุน้ำฝนควรสำรวจดูความชำรุดแตกรั่ว และต้องล้างให้สะอาดทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะภายในต้องทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการแช่หรือฉีดพ่นน้ำคลอรีนในขั้นตอนสุดท้ายของการล้างด้วย ในการรองน้ำฝนนั้นควรปล่อยให้ฝนตกชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศ บนหลังคาและรางรับน้ำฝนทิ้งไปสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยรองน้ำฝนใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ เมื่อเต็มแล้วปิดฝาภาชนะให้มิดชิดโดยใช้ตาข่ายพลาสติกปิดปากภาชนะให้แน่นก่อนปิดฝาเพื่อป้องกันสัตว์หรือแมลง เช่น จิ้งจก แมลงสาป เข้าไปอาศัย ดูแลที่ตั้งภาชนะเก็บน้ำฝนให้สะอาด ไม่เฉอะแฉะ ดูแลความสะอาดของภาชนะเก็บน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรนำสิ่งของต่าง ๆ ไปวางหรือกองไว้บนภาชนะเก็บน้ำฝน เพราะจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ แมลงนำโรค นอกจากนั้นเพื่อให้มั่นใจก่อนนำน้ำฝนมาดื่มควรนำไปต้มให้เดือดประมาณ 1 นาที เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ” รองอธิบดีกรมอนามัย
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: กรมอนามัย
ภาพจาก: Freepik