วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


อาหารว่าง เพื่อสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุ
        แนะนำอาหารมื้อว่าง 4 อย่างที่ผู้สูงอายุควรมีติดบ้านไว้ ที่รับรองเลยว่าหาซื้อง่าย แถมมีประโยชน์ไม่ใช่เล่นๆ เพราะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง นำไปดัดแปลงเป็นอาหารชนิดอื่นๆ ได้อีกเพียบ และสามารถชวนให้สมาชิกทุกคนในบ้านร่วมกันสร้างสรรค์เป็นเมนูสุดพิเศษได้อีกด้วย
โยเกิร์ตกินง่ายสบายท้อง
ผลิตภัณฑ์จากนมที่เสริมโพรไบโอติกส์ หรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เข้าไป ช่วยฟื้นฟูและปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้และระบบย่อยอาหารให้ดียิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่ของเซลล์ที่สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย อยู่ในระบบทางเดินอาหารถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ผู้สูงอายุคนไหนที่มีอาการท้องอืดบ่อย ๆ การกินโยเกิร์ตวันละถ้วยจะช่วยได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบทางเดินอาหารสมดุลแข็งแรง กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพออกจากร่างกายได้ดีขึ้น และที่สำคัญโยเกิร์ตยังอุดมไปด้วยแคลเซียมไม่ต่างจากนมปกติ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ 
ผลไม้รสเปรี้ยวกินแล้วเฟี้ยวสู้หวัด
มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อร่างกายได้รับวิตามินซีเป็นประจำทุกวัน จะสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของโรคหวัดได้ รวมถึงช่วยในการสร้างคอลลาเจนที่มีหน้าที่ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สำหรับผลไม้รสเปรี้ยวที่อยากแนะนำคือ ฝรั่ง ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงมาก ๆ การกินฝรั่งไม่ปลอกเปลือก 1 ผล จะได้วิตามินซีเทียบเท่ากับส้ม 20 ผล รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระ ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลาย ช่วยไม่ให้เกิดริ้วรอยตามวัยได้ เรียกว่าเป็นผลไม้ที่เหมาะกับวัยเก๋าจริง ๆ
ทูน่ากระป๋องกินสะดวกประโยชน์เพียบ
ทูน่าเป็นเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง และย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ช่วยสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันและซ่อมแซมร่างกายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีธาตุเหล็กที่ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง มีโพแทสเซียมที่ช่วยลดความดันโลหิตได้ นอกจากนี้ยังมีโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ดีต่อการทำงานของสมองและหัวใจอีกด้วย ไม่ควรเลือกแบบทูน่าในน้ำมันหรือน้ำเกลือ เพราะมีทั้งไขมันและโซเดียมที่สูง ควรเลือกกินทูน่าในน้ำแร่จะดีที่สุด 
อัลมอนด์กินมันเต็มคุณค่าโภชนาการ
ถั่วเปลือกแข็งที่ถือว่าเป็นหนึ่งในตระกูลถั่วที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุด อุดมไปด้วยไขมันดี อย่างเช่นกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและเบาหวานในผู้สูงอายุ และช่วยป้องกันอาการผิดปกติในระบบประสาทและสมองได้ นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยวิตามินอี แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย และมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคกระดูกพรุนอีกด้วย แต่เนื่องจากเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง ผู้สูงอายุจึงไม่ควรกินมากเกินกว่าวันละ 1 กำมือหรือ 24 เมล็ด เพื่อให้ได้รับพลังงานที่เหมาะสม 
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ


วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


6 วิธียืดอายุผักผลไม้ ไว้กินช่วงโควิด-19
         การเก็บรักษาผักและผลไม้อย่างถูกวิธี จะสามารถช่วยยืดอายุผักและผลไม้ ให้สด อร่อยและอยู่ได้นานยิ่งขึ้น
คะน้า กวางตุ้ง : ทิ้งใบแก่ ล้างแล้วผึ่งในตะกร้า  ห่อทิชชู่ ใส่กล่อง
ต้นหอม ผักชี : ล้างน้ำให้สะอาด ใส่กล่องถนอมอาหาร เข้าตู้เย็น ไม่ต้องตัดราก
กระเทียม หอมแดง หอมใหญ่ : นอกตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ระบายอากาศได้ดี ขณะที่การเก็บใน
ตู้เย็น ล้างซับให้แห้ง สับเป็นชิ้น ใส่กล่อง
มะนาว : อยู่ได้นานเกิน 1 เดือน ถ้าเก็บในถุงกระดาษ หรือถุงมีรูระบายอากาศ นำไปแช่ตู้เย็นในช่องผัก
ส้มเขียวหวาน : วางในครัวที่ไม่ถูกแสงมาก อยู่ได้นาน 4-5 วัน ส่วนที่เหลือแบ่งใส่กล่องพลาสติกไว้ในตู้เย็น
         
มะม่วงสุก : ล้างเปลือกให้สะอาด ซับให้แห้ง ปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ใส่กล่อง  
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ , จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ
ฉบับที่ 223 พฤษภาคม 2563

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


แนะเลี่ยงเมนูกะทิ เเละเมนูปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ป้องกันอาหารเป็นพิษ
         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนในช่วงที่อากาศร้อนจัดให้สังเกตการบูดเน่าของอาหาร โดยการดูและดม หากพบผิดปกติควรเลี่ยง โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงด้วยกะทิ และปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เน้นบริโภคอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เพื่อป้องกันโรคอุจาระร่วง อาหารเป็นพิษตามมา
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประชาชนต้องใส่ใจในเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษในช่วงอากาศร้อน เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายเมนูอาหารอาจบูดเสียได้ง่ายและเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษตามมา เช่น อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารบรรจุถุง นอกจากนี้หากมีอาหารเหลือระหว่างมื้อควรใส่ภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด เก็บไว้ในตู้เย็น ในเบื้องต้นหากจะกินอาหารอะไร ควรสังเกต ลักษณะที่เปลี่ยนไปด้วยการดูและดม เช่น มีฟองอากาศ กลิ่นเหม็นบูด รสชาติเปรี้ยวผิดปกติก็ไม่ควรนำมากิน น้ำดื่มหากเป็นน้ำประปาควรมีกลิ่นคลอรีนซึ่งบ่งบอกว่ามีการฆ่าเชื้อโรคเพียงแค่นำมาใส่ภาชนะทิ้งไว้ 30 นาที กลิ่นคลอรีนก็จะหายไป เลือกดื่มน้ำที่บรรจุขวดที่ได้มาตรฐานมีเลขสาระบบอาหาร (อย.) ส่วนน้ำแข็งต้องเป็นน้ำแข็งสำหรับบริโภคที่ได้มาตรฐานมีเลขสาระบบอาหาร (อย.) เช่นเดียวกัน
อาหารที่ปรุงเสร็จหากยังไม่กินทันที ควรใส่ในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดหรือมีการปกปิด วางให้สูง จากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร หากเก็บไว้นานเกิน 2-4 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นให้เดือดก่อนนำมากิน ส่วนอาหารที่ไม่สามารถอุ่นได้ เช่น ยำ พล่า ควรปรุง ประกอบในปริมาณเท่าที่จะกินเท่านั้น ไม่ควรทำทิ้งไว้นาน ๆ และยึดหลักล้างมือ กินร้อน ช้อนส่วนตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ 
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

FOOD INFORMATION CENTER


ทุเรียน 4-6 เม็ด พลังงานสูงเทียบเท่าอาหาร 2 มื้อ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยกินทุเรียนในปริมาณ 4-6 เม็ด ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานสูงถึง 520-780 กิโลแคลอรี เทียบเท่ากับกินอาหาร 2 มื้อ แนะควรกินแต่พอดีและออกกำลังกายช่วย เผาผลาญพลังงาน
นายแพทย์สราวุฒิ  บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ด ไม่กินถี่ทุกวัน และลดอาหารกลุ่มข้าวแป้ง ของหวานในมื้อที่กินทุเรียนสูงถึง 520 – 780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินข้าวมันไก่ 2 จาน หรือเท่ากับการกินอาหาร 2 มื้อ นอกจากนี้คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต  โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการกินทุเรียนมากกว่าคนทั่วไป อาจกินได้แต่ต้องกินในปริมาณน้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อย เพราะการกินทุเรียนปริมาณมากหรือกินทุเรียนบ่อยๆ จะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดของผู้ป่วยได้
ทั้งนี้ ควรกินทุเรียนสลับกับการกินผลไม้ที่หลากหลายชนิดในแต่ละวัน เช่น กินทุเรียนคู่กับมังคุด เพราะมังคุดเป็นผลไม้ที่มีน้ำในปริมาณมาก จึงทำให้มีฤทธิ์เย็นช่วยต้านความร้อนที่เกิดจากกินทุเรียนได้ รวมทั้งยังมีเส้นใยอาหารสูง และสารต้านการอักเสบช่วยแก้ร้อนใน เหมาะกับการกินคู่กับทุเรียน อย่างไรก็ตาม ทุเรียน ไม่ได้เป็นผลไม้ต้องห้าม หากอยากกินหรือชอบกิน สามารถกินได้ แต่กินในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันเพื่อช่วยเผาพลาญพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายได้รับ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ขอขอบคุณ
         ข้อมูลจาก: กรมอนามัย
         ภาพจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


แนะสมุนไพรพื้นบ้าน ป้องกันไข้เลือดออก

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชนใช้สมุนไพรพื้นบ้านช่วยไล่ยุง ป้องกันโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝน พร้อมแนะนำวิธีการทำสเปรย์ตะไคร้หอมอย่างง่ายไว้ใช้ในครัวเรือน
        นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนพบว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ปัจจุบันของโรคไข้เลือดออกคาดว่า ในปี 2563 จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ประมาณ 140,000 ราย สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กวัยเรียน (อายุ 5-14 ปี) แต่กลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตนั้น คือ วัยผู้ใหญ่ (อายุ 35 ปีขึ้นไป) โดยเฉพาะในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง สำหรับโรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรกถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยเฉพาะในระยะ ที่มีเลือดออก (ระยะช็อก) ก็อาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งภายในบ้าน ชุมชน รวมถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ                        
        กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำสมุนไพรพื้นบ้าน หาง่ายใช้สะดวก เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน มีสารสำคัญช่วยไล่ยุง ป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ เช่น ตะไคร้หอม มีสารสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหยง่าย (Citronella oil) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงและแมลงอื่น ๆ วิธีการนำมาใช้ไล่ยุงง่าย ๆ เพียงแค่นำต้นตะไคร้หอมสดมาขยี้หรือทุบให้มีกลิ่น แล้วนำไปวางไว้บริเวณมุมอับหรือจุดที่ต้องการไล่ยุง นอกจากนี้ ยังสามารถ นำสมุนไพรชนิดอื่นมาใช้ไล่ยุงได้โดยใช้วิธีเดียวกัน ได้แก่ ตะไคร้ ผิวมะกรูด กะเพรา โหระพา ยูคาลิปตัส เป็นต้น
       ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพร้อมใช้ที่ทำมาจากตะไคร้หอม สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือตามร้านสะดวกซื้อ แต่หากต้องการทำสเปรย์ตะไคร้หอมไว้ใช้ ก็มีวิธีทำง่ายๆ โดยหั่นตะไคร้หอมเป็นชิ้นเล็กๆ ปริมาณ 100 กรัม ผิวมะกรูดหั่นปริมาณ 50 กรัม ห่อด้วยผ้าขาวบาง ใส่ลงในโหลแก้วเติมเอทิลแอลกอฮอล์ ปริมาณ 1 ลิตร ใส่การบูรปริมาณ 10 กรัม ปิดฝาให้แน่นหมักไว้ 7 วัน ระหว่างทำการหมักต้องเขย่าโหลแก้วทุกวัน เมื่อครบกำหนดกรองเอาแต่น้ำนำมาบรรจุขวดสเปรย์ ให้ติดฉลากว่าสเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง เพื่อป้องกันการหยิบใช้ผิด วิธีใช้ให้ฉีดตามผิวกายแต่ควรระวังการสัมผัสกับเยื่อบุอ่อนที่บอบบาง เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


แนะปรับชีวิตวิถีใหม่ กินอยู่อย่างไทย สู้ภัยโควิด-19

กรมแพทย์แผนไทย แนะปรับชีวิตวิถีใหม่จาก "โควิด" สู่กินอยู่อย่างไทย เน้นกินผักผลไม้หลากหลาย ได้ประโยชน์ 3 กลุ่ม ชู "เห็ด" สร้างภูมิต้านทาน "มะระ-คะน้า-ใบเหลียง-กะเพรา" ต้านอนุมูลอิสระ "หอม-ขมิ้น-ข่า-ตะไคร้" ลดติดเชื้อ เพิ่มผลไม้ได้วิตามินซี แนะปลูกกินเอง ช่วยลดค่าใช้จ่าย
นพ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการกินอยู่อย่างไทยตามหลักชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ว่า อาหารเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้เรามีร่างกายแข็งแรง ซึ่งประเทศไทยมีพืชผักผลไม้สุขภาพมีประโยชน์หลากหลาย โดยขอแนะนำกลุ่มพืชผักสมุนไพรเป็น 3 กลุ่ม คือ 
1.มีฤทธิ์สร้างภูมิต้านทาน เช่น เห็ดต่างๆ อย่างเห็ดฟาง เห็ดหอม เห็ดหลินจือ เห็ดออรินจิ ซึ่งเมนูสุขภาพที่ทำได้ คือ ต้มยำเห็ด หรือยำเห็ด ผัดเห็ด เป็นเมนูสขุภาพช่วยสร้างภูมิต้านทานร่างกาย เป็นประโยชน์ แต่ต้องระวังเรื่องความสะอาดผ่านการต้ม นึ่ง ลวกที่ถูกวิธี
2.กลุ่มต้านอนุมูลอิสระ เช่น มะระ คะน้า ใบเหลียง กะเพรา ซึ่งพบได้ทั่วไป เอามาปรุงเป็นอาหาร เช่น ต้มกะเพรา แกงเลียงผสมผักหลายชนิด ผัดบวบผัดไข่ ใบเหลียงผัดไข่ เป็นต้น
3.กลุ่มลดการติดเชื้อทางเดินหายใจ ไวรัสต่างๆ พบว่า ผักผลไม้สำคัญมีสารเคอร์ซิติน เช่น หอมแดง หอมใหญ่ ขมิ้น ข่า ตะไคร้ มีฤทธิ์ต้านการติดเชื้อไวรัสได้ ทำเมนูง่ายๆ เช่น ไข่เจียวหอมแดง เป็นอาหารรับประทานได้ในครอบครัว
นพ.สรรพงศ์ กล่าวว่า สำหรับผลไม้ บ้านเมืองเรามีผลไม้จำนวนมาก โดยผลไม้รสเปรี้ยว มีวิตามินซีสูงช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ต้านการติดเชื้อไวรัส เช่น ส้ม แอปเปิ้ล มะม่วง นำมาใช้บริโภค หามารับประทานปรุงอาหาร หรือทำน้ำผลไม้ต่างๆ เช่น น้ำอัญชัญ น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำตรีผลา ซึ่งตามตำรับยาแผนไทยช่วยปรับสมดุลร่างกาย ทำให้มีภูมิต้านทานแข็งแรงมากขึ้น เป็นเมนูสุขภาพโดยใช้พืชผักสมุนไพรมาปรุงรับประทานอาหารแต่ละวันเพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย
ขอขบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


โควิด-19 ไม่ติดต่อปศุสัตว์ ปรุงสุกกินได้ปลอดภัย


ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา" ยืนยันเนื้อสัตว์ หมู ไก่ เป็ด รับประทานได้ไร้เชื้อโควิด-19 ย้ำอาหารต้องเน้นความสะอาดและปรุงสุกให้ความร้อนฆ่าเชื้อโรค เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค
เมื่อวันที่  11  พ.ค. 63   ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ   หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวย้ำว่า ปกติเชื้อโคโรน่าไวรัส สามารถพบได้ในสัตว์ทุกชนิด ส่วนเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ที่เกิดโรคในคน หรือ โควิด-19 นั้น จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในจีน พบว่าเชื้อนี้ติดต่อได้ในสัตว์ตระกูล Feline เช่น แมวและเสือ เป็นต้น สำหรับสัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู ไก่และเป็ด งานวิจัยพบว่าจะไม่สามารถติดโรคโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้โรคโควิด-19 ที่แพร่จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อโรคชนิดนี้แพร่กลับมาสู่คนได้
งานวิจัยชี้ชัดว่าไวรัสตัวนี้ไม่ติดใน หมู ไก่ เป็ด หรือปศุสัตว์อื่นๆ ประชาชนจึงสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ แต่อยากเน้นต้องปรุงอาหารให้สุก สะอาด และไม่แนะนำให้ทานอาหารดิบๆ สุกๆ เด็ดขาดในช่วงนี้ การทานอาหารที่สุกความร้อนสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิดรวมทั้งโควิด-19 ”            ศ.นพ.ยง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร ควรมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและแนวทางปฏิบัติด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลที่เคร่งครัดโดยเฉพาะมาตรการดูแลตัวเองและการควบคุมอนามัยส่วนบุคคล ความสะอาด การล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝอยละอองที่เกิดจาการไอหรือจามปนเปื้อนไปกับอาหาร และหากผู้ปฏิบัติงานมีอาการป่วยและมีไข้ ควรหยุดการปฏิบัติงานในทันที
"จากการทำวิจัยมากว่า 10 ปีในไทย พบว่าโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไปมักจะระบาดได้ง่ายช่วงฤดูฝนมากกว่าฤดูร้อน ดังนั้นในฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ประเทศไทยต้องเตรียมตั้งรับแบบเข้มแข็งกว่าปกติ เพราะหากพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ การวินิจฉัยโรคจะค่อนข้างยุ่งยากกว่าปกติ จำเป็นต้องตรวจโรคมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือติดเชื้อไข้หวัดธรรมดา ดังนั้นปีนี้ไทยจำเป็นต้องระวังมากกว่าทุกปี" ศ.นพ.ยง กล่าว

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


ใช้ถุงพลาสติกผิดประเภท…เสี่ยงมะเร็ง
       ทุกวันนี้…อาหารปรุงสำเร็จที่วางขายกัน ส่วนใหญ่มักใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารทั้งร้อน และเย็นกันแทบทั้งนั้นแต่ยิ่งสะดวกเท่าไหร่ บางครั้งก็ต้องระวัง ให้มากขึ้นด้วย เพราะแม่ค้าหรือผู้ซื้อบางราย ยังไม่ทราบถึึงคุณสมบัติที่แตกต่างกันของถุงพลาสติกแต่ละชนิดซึ่ง
ถุงพลาสติกที่ใช้กันโดยทั่วไปมี 3 ประเภท ด้วยกัน คือ
ถุงร้อน มีลักษณะใสมาก และมีความกระด้าง กว่าถุงเย็น ไม่ยืดหยุ่น สามารถบรรจุของร้อนและ อาหารที่มีไขมัน เพราะทนความร้อนได้ถึงจุดน้ำเดือด (100 องศาเซลเซียส) บางชนิดทนร้อนได้ถึง 120 องศาเซลเซียส
ถุงเย็น มีลักษณะค่อนข้างใส นิ่ม ยืดหยุ่น พอสมควร ใช้บรรจุของทั่วไป อาหารแช่แข็ง สามารถทนความเย็นได้ถึง -70 องศาเซลเซียส แต่ทนความร้อน ได้ไม่มากนัก
ถุงหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บ ไม่ปลอดภัยสำหรับ บรรจุอาหารที่เนื้ออาหารสัมผัสกับถุงโดยตรง โดยเฉพาะอาหารร้อนหรืออาหารที่มีไขมัน เช่น กล้วยแขก ปาท่องโก๋ แม้จะมีกระดาษขาววาง รองก้นถุงก็ตาม และห้ามนำถุงประเภทรีไซเคิลหรือ ถุงก๊อบแก๊บที่มีสีเข้มมาใช้กับอาหารหากนำถุงพลาสติกแต่ละประเภทมาใช้ ไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้อาหารที่บรรจุนั้นไม่ปลอดภัย และอาจมีการปนเปื้อนของสารที่เป็นอันตราย จากพลาสติกสู่อาหาร โดยจะค่อยๆ สะสมในร่างกาย ทีละน้อยๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก : กรมอนามัย

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


เเนะยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ


         กรมควบคุมโรค แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ในช่วงโควิด-19 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศร้อนสลับฝนตก ซึ่งในวันที่อากาศร้อนจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ ประกอบกับในช่วงนี้  มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ จึงมีการประกอบอาหารเองหรือออกไปรับแจกจ่ายอาหารจากข้างนอกบ้าน แต่หากทำไม่ถูกวิธีหรือไม่สะอาด โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุกหรือไม่ผ่านความร้อน รวมถึงอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น อาจทำให้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำได้
      กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยจากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–28 เมษายน 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยด้วย 5 โรคสำคัญที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 271,933 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 25,640 ราย โรคบิด 679 ราย โรคอหิวาตกโรค 1 ราย และโรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 153  ราย
     สำหรับโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้  ดังนั้น การป้องกันคือ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนอาหารที่กลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนรับประทาน
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


สธ. แนะอาหารสร้างระบบภูมิคุ้มกัน สู้โควิด-19
เมื่อวันที่ 30  เม.ย.63  ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข
จ.นนทบุรี
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  จากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ คาดว่าเราจะยังต้องอยู่กับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค ประชาชนจึงต้องปรับการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ (
New Normal)
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า ขอให้เลือกกินอาหารที่มีวิตามิน เกลือแร่สูง เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ วิตามินซี ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง ช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาว ขจัดเชื้อโรค ต้านภูมิแพ้ ลดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดการจาม น้ำมูกไหล มีมากในผักผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะ พริกหวานแดง พริกหวานเขียว ผักคะน้า บรอกโคลี มะระขี้นก และวิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันกรดไขมันไม่อิ่มตัวและส่วนประกอบเยื่อหุ้มเซลล์ของอวัยวะในร่างกายถูกทำลาย มีมากน้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำข้าว ถั่วลิสง ไข่ไก่ รวมทั้งวิตามินดี ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน พบใน เห็ดหอม ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาแซลมอน ปลานิล ไข่แดง และในแสงแดด สำหรับแร่ธาตุได้แก่ ซีลีเนียม ช่วยอนุมูลอิสระที่ทำอันตรายต่อเซลล์หรือเปลี่ยนแปลงเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง และเสริมการทำงานของวิตามินซี และวิตามินอี ช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ พบในปลาทูสด ไข่ ปลาจาระเม็ดสด เนื้อปูต้มสุก   หากขาดซีลีเนียมจะติดเชื้อได้ง่าย และแร่ธาตุที่จำเป็นอีกชนิดหนึ่งคือ สังกะสี ช่วยควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคและการเจริญเติบโต พบมากในเนื้อสัตว์สันใน และเครื่องในสัตว์ หอยนางรม ไข่ นม ปลา      
นอกจากนี้ แนะนำเมนูชูสุขภาพช่วยเสริมภูมิต้านทานที่มีใบกะเพรา และพริกขี้หนูเป็นส่วนประกอบ เช่น  ผัดกะเพราปลา ไข่เจียวกะเพรา  ต้มยำปลาทู สปาเก็ตตี้ขี้เมาทะเล เป็นต้น โดยกะเพรามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงเกิดมะเร็ง ส่วนพริก มีวิตามินซีสูง กระตุ้นความอยากอาหาร ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยการเผาผลาญพลังงาน และบำรุงสายตา
ขอขอบคุณ
        ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ