วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


แนะสมุนไพรพื้นบ้าน ป้องกันไข้เลือดออก

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชนใช้สมุนไพรพื้นบ้านช่วยไล่ยุง ป้องกันโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝน พร้อมแนะนำวิธีการทำสเปรย์ตะไคร้หอมอย่างง่ายไว้ใช้ในครัวเรือน
        นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนพบว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ปัจจุบันของโรคไข้เลือดออกคาดว่า ในปี 2563 จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ประมาณ 140,000 ราย สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กวัยเรียน (อายุ 5-14 ปี) แต่กลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตนั้น คือ วัยผู้ใหญ่ (อายุ 35 ปีขึ้นไป) โดยเฉพาะในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง สำหรับโรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรกถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยเฉพาะในระยะ ที่มีเลือดออก (ระยะช็อก) ก็อาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งภายในบ้าน ชุมชน รวมถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ                        
        กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำสมุนไพรพื้นบ้าน หาง่ายใช้สะดวก เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน มีสารสำคัญช่วยไล่ยุง ป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ เช่น ตะไคร้หอม มีสารสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหยง่าย (Citronella oil) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงและแมลงอื่น ๆ วิธีการนำมาใช้ไล่ยุงง่าย ๆ เพียงแค่นำต้นตะไคร้หอมสดมาขยี้หรือทุบให้มีกลิ่น แล้วนำไปวางไว้บริเวณมุมอับหรือจุดที่ต้องการไล่ยุง นอกจากนี้ ยังสามารถ นำสมุนไพรชนิดอื่นมาใช้ไล่ยุงได้โดยใช้วิธีเดียวกัน ได้แก่ ตะไคร้ ผิวมะกรูด กะเพรา โหระพา ยูคาลิปตัส เป็นต้น
       ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพร้อมใช้ที่ทำมาจากตะไคร้หอม สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือตามร้านสะดวกซื้อ แต่หากต้องการทำสเปรย์ตะไคร้หอมไว้ใช้ ก็มีวิธีทำง่ายๆ โดยหั่นตะไคร้หอมเป็นชิ้นเล็กๆ ปริมาณ 100 กรัม ผิวมะกรูดหั่นปริมาณ 50 กรัม ห่อด้วยผ้าขาวบาง ใส่ลงในโหลแก้วเติมเอทิลแอลกอฮอล์ ปริมาณ 1 ลิตร ใส่การบูรปริมาณ 10 กรัม ปิดฝาให้แน่นหมักไว้ 7 วัน ระหว่างทำการหมักต้องเขย่าโหลแก้วทุกวัน เมื่อครบกำหนดกรองเอาแต่น้ำนำมาบรรจุขวดสเปรย์ ให้ติดฉลากว่าสเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง เพื่อป้องกันการหยิบใช้ผิด วิธีใช้ให้ฉีดตามผิวกายแต่ควรระวังการสัมผัสกับเยื่อบุอ่อนที่บอบบาง เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น