วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


ขิง กินดี มีประโยชน์
กระแสการดื่มน้ำขิง หรืออาหารที่มีขิงเป็นส่วนประกอบจะขายดี เพราะมีหลายคนกล่าวอ้างว่า ขิงสามารถป้องกันโควิด 19 ได้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร  วันนี้เราจะบอกให้รู้กันไปเลย 
ขิงไม่ได้ช่วยป้องกัน COVID 19  
ด้วยความที่ COVID 19 เป็นโรคอุบัติใหม่  และยังไม่มีรายงานว่าอาหารชนิดใดที่จะช่วยป้องกัน COVID 19 ดังนั้นการกินเพื่อป้องกัน COVID 19 จะถือว่าผิดวัตถุประสงค์ไปหน่อย หากเราอยากป้องกันโรคนี้ สิ่งที่ควรทำคือกินอาหารที่ร้อน สุกสะอาด และมีผักทุกมื้อ แยกช้อน แยกชาม แยกของใช้ของกันละกัน เว้นระยะห่างจากคนอื่น ๆ ตามหลักการ Social Distancing หรือ Physical Distancing ยึดหลักว่า โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกันนั่นเอง
แต่ขิงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้
แม้ว่าขิงจะไม่ได้ช่วยป้องกันโรค แต่มีงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่บอกว่า ขิงนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ (anti – oxidant) และสารต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) อยู่มากมาย เช่น Gingerol , Shogoal และ Paradoal  โดยพบว่า ขิงสามารถช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกายได้ นอกจากนี้ สารในขิงบางตัว ยังทำหน้าที่ป้องกันการเจริญเติบโตและการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งได้หลากหลายชนิด แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีก  
สรุปแล้ว ควรกินขิง ดีหรือไม่ 
คำตอบคือ กินได้และดี ควรกินจากอาหารธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ต้มน้ำขิงดื่ม แทนน้ำหวาน น้ำอัดลม หรือชาหวานต่าง ๆ โดยที่เราต้องไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำผึ้งมากเกิน 1 ช้อนชาต่อแก้ว ต่อวัน 
หรือ อาจจะนำขิงไปผัดคู่กับเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ เช่น ปลาผัดขิง ก็จะได้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น
  
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


"โซเดียม" ภัยเงียบจากของอร่อย
กรมการแพทย์โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือนการบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินกว่า 2,400 มิลลิกรัม หรือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวันจะทำให้ไตทำงานหนัก เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงและยิ่งมีโอกาสพบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้น พร้อมแนะวิธีลดปริมาณโซเดียมเพื่อการทำงานที่ดีของไต
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โซเดียมเป็นส่วนประกอบของเกลือ ซึ่งเกลือ 1 กรัม จะมีโซเดียมประมาณ 400 มิลลิกรัม โดยร่างกายมีความต้องการโซเดียมประมาณ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าได้รับมากร่างกายจะขับออกทางไตจะทำให้ไตทำงานหนัก ดังนั้น การที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่พอเพียงไม่มากไม่น้อยจนเกินไปจะเกิดผลดีต่อการทำงานของไต ส่วนเกลือโซเดียม หรือเกลือแกงเป็นตัวหลักของสารที่ให้ความเค็มในเครื่องปรุงรสที่นิยมใช้ คือ น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ เต้าเจี้ยว ฯลฯ และยังใช้ในการถนอมอาหารประเภทหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาร้า ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เป็นต้น
นอกจากนี้ เกลือโซเดียมยังแฝงมากับอาหารอื่นๆ เช่น ขนมอบกรอบ ผงชูรส หากรับประทานอาหารที่เค็มจัดที่มีเกลือโซเดียม หรือเกลือแกงมากกว่า 6 กรัมต่อวัน หรือมากกว่า 1 ช้อนชาขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบบริโภค ผัก ผลไม้
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวันไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งวิธีที่จะช่วยลดปริมาณการบริโภคโซเดียมมีหลายวิธี เช่น หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด และอาหารหมักดอง ชิมอาหารทุกครั้งก่อนเติมเครื่องปรุง เลือกบริโภคอาหารสด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวที่มีเครื่องปรุงรสปริมาณมาก ลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุงน้ำจิ้ม และลดปริมาณน้ำจิ้มที่บริโภค ทดลองปรุงอาหารโดยใช้ปริมาณเกลือ น้ำปลา ตลอดจนเครื่องปรุงรสอื่นๆ เพียงครึ่งหนึ่งที่กำหนดไว้ในสูตรปรุงอาหาร ถ้ารสชาติไม่อร่อยจริงๆ จึงค่อยเพิ่มปริมาณของเครื่องปรุงรส ควรปลูกฝังนิสัยให้บุตรหลานรับประทานอาหารรสจืด โดยไม่เติมเกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำปลา ตลอดจนซอสปรุงรสในอาหารเด็กและทารก และควรบริโภคอาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ จะสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้
ขอขอบคุณ
ขอมูลจาก: กรมการแพทย์,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

FOOD INFORMATION CENTER


น้ำมันเก่าที่ใช้แล้ว อันตรายต่อสุขภาพ
แนะน้ำมันเก่าที่ใช้แล้วไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคควรเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับวิธีปรุงอาหาร 
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่วิธีการเปลี่ยนน้ำมันเก่าที่ใช้แล้วให้กลับมาใสเหมือนเดิมด้วยการเติมแป้งสาลีผสมน้ำ ทำให้คนกังวลว่าจะมีอันตรายหรือไม่ ว่า การนำน้ำมันปาล์มจากครัวเรือนและร้านอาหารริมทางที่ผ่านการทอดปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และเกี๊ยวกรอบ มาตั้งไฟอ่อนๆ แล้วเติมแป้งสาลีผสมน้ำลงไป เพื่อให้แป้งจับเอาคราบดำและตะกอนต่าง ๆ นั้น 
จากการตรวจวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพทั้งทางกายภาพและทางเคมีของน้ำมันก่อนและหลังการทำให้ใส ได้แก่ 1.สีและตะกอน 2.ค่าของกรด ซึ่งบ่งชี้คุณภาพของน้ำมัน 3.ค่าเพอร์ออกไซด์ ซึ่งบ่งชี้ขั้นต้นของการเกิดกลิ่นหืน และ 4.สารโพลาร์ บ่งชี้คุณภาพของน้ำมันทอดซ้ำ พบว่า น้ำมันเก่าที่ใช้แล้วหลังผ่านกรรมวิธีดังกล่าว มีสีจางลงและตะกอนน้อยลง แต่ค่าของกรด ค่าเพอร์ออกไซด์ และสารโพลาร์ในน้ำมันก่อนและหลังการทำให้ใสไม่มีความแตกต่างกัน 
จากผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า กรรมวิธีเปลี่ยนน้ำมันเก่าที่ใช้แล้วให้ใสเหมือนใหม่ ด้วยการเติมแป้งสาลีผสมน้ำไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพทางเคมีของน้ำมันเก่าที่ใช้แล้วให้ดีขึ้นได้และน้ำมันเก่าที่ทอดซ้ำหลายๆครั้งทำให้เกิดสารโพลาร์ในปริมาณสูงขึ้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 
นพ.โอภาสกล่าวว่าการกรองน้ำมันโดยไม่ผ่านการใช้ความร้อนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคควรเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับวิธีปรุงอาหาร เช่น การทอดแบบน้ำมันท่วมที่อุณหภูมิสูงและใช้ระยะเวลานาน ควรใช้น้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูง มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวต่ำ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู ส่วนการทอดหรือผัด สามารถใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันคาโลนาหรือน้ำมันเมล็ดชา แต่ถ้าหากปรุงสลัดควรใช้น้ำมันมะกอก เป็นต้น และไม่ควรทอดอาหารโดยใช้ไฟแรงเกินไป ควรซับน้ำบนผิวอาหารก่อนทอด เพราะน้ำจะเร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมัน และควรเปลี่ยนน้ำมันบ่อย ๆ นพ.โอภาสกล่าว
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ